วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อุตสาหกรรมการผลิต


       การผลิต หมายถึงการนำเอาปัจจัยการผลิตต่างๆ อันได้แก่  ที่ดิน  แรงงาน  ทุน วัตถุดิบและผู้ประกอบการ ไปผ่านกระบวนการผลิตหรือกรรมวิธีในการผลิต จนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าหรือบริการสำเร็จรูปเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น อาหารเสื้อผ้า ยารักษาโรค บริการขนส่ง เป็นต้น
กรรมวิธีในการผลิตเป็นการเพิ่มมูลค่าหรือประโยชน์ในการใช้สอยให้กับตัวสินค้าและบริการ ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ โดยทำให้สิ่งของหรือบริการมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และสามารถบำบัดความต้องการของมนุษย์ได้ เช่น การนำไม้มาทำโต๊ะ เก้าอี้   การนำฝ้ายมาทำผืนผ้า  หรือการนำผืนผ้ามาทำเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป  การนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร ทำให้ข้าวเปลือกมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น  เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้กับตัวสินค้า

รูปแบบของการผลิต

การผลิตอาจมีรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1)  การเปลี่ยนแปลงรูป   เป็นการนำเอาวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตมาเปลี่ยนแปลงรูป เพื่อให้เกิดสินค้าและบริการชนิดใหม่ โดยใช้เครื่องมือเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีการผลิต เช่น การนำถั่วเหลืองมาสกัดเป็นน้ำมัน  การแปรรูปจากยางพาราเป็นยางรถยนต์  จากแป้งสาลีเป็นขนมประเภทต่างๆ จากเม็ดพลาสติกเป็นอุปกรณ์พลาสติก จากเหล็กและไม้เป็นเฟอร์นิเจอร์  ฯลฯ
2) การเปลี่ยนสถานที่ เป็นการขนส่งสินค้า หรือวัตถุดิบ จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้าและบริการ หรือบำบัดความต้องการให้ผู้บริโภคมากขึ้นอย่างทั่วถึง เช่น  การขนส่งยางดิบไปยังโรงงานผลิตยาง  การขนส่งอ้อยไปยังโรงงานผลิตน้ำตาล  การขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตมายังร้าน      ค้าส่ง จากร้านค้าส่งมายังร้านค้าปลีก และจากร้านค้าปลีกมายังผู้บริโภค หรือการขนส่งผู้โดยสารจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง  ฯลฯ
3) การเปลี่ยนแปลงด้านเวลา เป็นการสร้างความพอใจให้แก่ผู้บริโภคอันเนื่องจากการการแปรรูปปัจจัยการผลิตหรือสินค้าและบริการให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น หรือให้ทันกับความต้องการใช้ของผู้บริโภค เช่น การถนอมอาหารเพื่อให้สามารถเก็บอาหารนั้นไว้บริโภคได้นานๆ  การเสนอข่าวที่ทันต่อเหตุการณ์ของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ  การผลิตสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับฤดูกาล เช่น ในฤดูหนาวมีการผลิตเสื้อกันหนาว หรือเครื่องทำน้ำอุ่นเพิ่มขึ้น หรือในฤดูฝนก็มีการผลิตร่มเพิ่มขึ้น เพื่อให้พอเพียงกับความต้องการที่สูงขึ้นในขณะนั้นๆ
4) การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นการก่อให้เกิดขึ้นโดยการโอนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง เช่น กิจกรรมของพ่อค้าคนกลาง กิจกรรมของนายหน้าที่มีต่อการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน  และกิจกรรมของนายหน้าซื้อขายที่ดิน เป็นต้น
5) การให้บริการ เป็นการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือความพอใจอันเนื่องจากการให้บริการโดยตรงแก่ผู้บริโภค เช่น การให้บริการทางการแพทย์ การศึกษา การขนส่ง  การธนาคาร  การประกันภัย การบริการของบริษัทนำเที่ยว การบริการของร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม  เป็นต้น
ลำดับขั้นการผลิต
            กระบวนการผลิตจองมนุษย์  เริ่มจากกระบวนการผลิตง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือ และวิวัฒนาการมาจนถึงการใช้เครื่องมือเครื่องจักรเพื่อให้ได้สินค้ามากขึ้น  จนมาถึงการอำนวยความสะดวกในการใช้สินค้าต่างๆ การผลิตใดเกิดก่อนจะเรียงลำดับไว้ก่อน  และการผลิตที่เกิดหลังจะเรียงไว้หลัง  ซึ่งแบ่งเป็น 3 ขั้นดังนี้
            1.  การผลิตขั้นปฐมภูมิ ( Primary Production)  คือ  การผลิตแบบดั้งเดิมเป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยตรง  กรรมวิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน  เช่น  การเกษตรกรรม  การป่าไม้  การประมง  การเลี้ยงสัตว์  การทำนา  ซึ่งประเทศล้าหลังทางเศรษฐกิจจะมีการผลิตในขั้นนี้เป็นส่วนใหญ่
            2.   การผลิตขั้นทุติยภูมิ  (Secondary Production)  คือ การนำผลผลิตขั้นปฐมมาดัดแปลงเป็นผลผลิตใหม่  ไม่ให้เกิดการเน่าเสียสิ้นเปลือง  เช่น  การนำสับปะรดมาผลิตเป็นสับปะรดกระป๋อง  การนำฝ้ายมาทอเป็นผ้า  การทำเหมืองแร่  การย่อยหิน  การอุตสาหกรรมอื่นๆ  เป็นต้น
            3.   การผลิตขั้นตติยภูมิ  (Tertiary Production)  คือ   การนำผลผลิตขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิส่งไปถึงมือผู้บริโภคอย่างสะดวก  ตลอดจนการให้บริการและการอำนวยความสะดวกในด้านการค้าอื่นๆ ด้วย เช่น  งานราชการ  การค้าส่ง  การค้าปลีก  งานทนายความ  การแพทย์  การให้ความบันเทิง  การประกันภัย  การธนาคาร  การบรรจุหีบห่อ  เป็นต้น  ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการผลิตขั้นตติยภูมิมากกว่าขั้นอื่นๆ

        ปัจจัยการผลิต
            ในทางเศรษฐศาสตร์ปัจจัยการผลิตหมายถึง  ทรัพยากรต่างๆ ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ  ตัวอย่าง ได้แก่  ที่ดิน  แรงงาน  วัตถุดิบ  เครื่องมือ  เครื่องจักร  อุปกรณ์การผลิตต่างๆ
            ในทางเศรษฐศาสตร์แบ่งปัจจัยการผลิตเป็น  4  ชนิด  คือ
            1.  ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ  (Land and Natural Resources)  หมายถึง  เจ้าของที่ดินที่นำมาใช้ประกอบกิจการต่างๆ เช่น ที่ตั้งสำนักงาน  ที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม  รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทที่อยู่บนดินและใต้ดิน  ได้แก่  แหล่งน้ำ  แร่ธาตุ  น้ำมัน  ถ่านหิน  แหล่งที่เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ตลอดจนสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศด้วย  ทรัพยากรเหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัด บางอย่างไม่สามารถสร้างขึ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ  จึงจำเป็นต้องใช้อย่างประหยัด และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
            2.   แรงงาน (Labour)  หมายถึง  การทำงานทุกชนิดของมนุษย์ทั้งที่ใช้แรงงาน  กำลังความคิด  ความสามารถ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้าและบริการ  เช่น  นายเศรษฐามีความสามารถในการขายสินค้า  นายสมชายมีความสามารถในการขับรถส่งสินค้า  เจ้าของแรงงานเหล่านี้จะมีทักษะความสามารถเป็นพิเศษ
            3.  ทุน  (Capital)  หมายถึง  สิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิต  เช่น  เครื่องมือเครื่องใช้  หรือเงินทุนที่ใช้ในการซื้อหาปัจจัยการผลิตอื่นๆ ทุนแบ่งออกได้เป็น  2  ประเภทใหญ่ๆ  คือ 
                        3.1  สินค้าประเภททุน  คือ  เครื่องมือเครื่องจักรที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการผลิต  เช่น  อาคาร  โรงงาน  เครื่องจักร เครื่องมือขนาดใหญ่  ที่มนุษย์นำมาใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ และทุนดำเนินการซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้หมดไป  เช่น  น้ำมันเชื้อเพลิง  กระดาษ  ปากกา  ดินสอ  วัตถุดิบต่างๆ  เป็นต้น
                        3.2  เงินทุน   หมายถึง  จำนวนเงินที่ผู้ผลิตแต่ละรายนำมาใช้เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตอื่นๆ  เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ  เช่น  ใช้เป็นค่าเช่าที่ดิน  ค่าจ้างคนงานในการผลิตสินค้าและบริการ เป็นต้น
            4.  ผู้ประกอบการ  (Entrepreneurship)   หมายถึง  บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จัดตั้งองค์การผลิตขึ้นเพื่อทำ
การผลิตสินค้าและบริการ  รวมทั้งความสามารถในการดำเนินการวางแผน  โดยรวบรวมปัจจัยการผลิต  ที่ดิน
แรงงาน  ทุน  มาประกอบกันเพื่อการผลิต  โดยเป็นผู้รับความเสี่ยงต่อผลได้หรือผลเสียที่เกิดจากการตัดสินใจนั้น


อ้างอิงมาจาก www .sukhothaitc.ac.th


                www.machineshop111.com   
                
                   www.industrial.cmru.ac.th


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น